กะเพรา

กะเพรา







ชื่ออื่นๆ   กระเพราแดง กระเพราขาว (ภาคกลาง)
                กระเพราดำ กระเพราขน กอมก้อ
                ก่ำก้อขาว ก่ำก้อดำ กอมก้อขาว
                กอมก้อดำ (เชียงใหม่-ภาคเหนือ)
                ห่อตูปลา ห่อกวอซู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์     Ocimum sanctum Linn.
วงศ์         Labiatae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กะเพรา เป็นพันธุ์ไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูง ประมาณ 1 ถึง 4 ฟุต เนื้อไม้แข็ง มีขน เมื่อหักต้นหรือขยี้ใบดมจะมีกลิ่นหอม ใบสีเขียวเรียกว่า กะเพราขาว ใบสีแดงเรียกว่า กะเพราแดง ใบมีขน โดยเฉพาะส่วนยอดจะมีมากกว่าส่วนอื่นๆ กิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนปลายของกิ่ง ก้าน และลำต้นจะอ่อน ดอกออกเป็นช่อ ตั้งขึ้นไปเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร กลีบดอกกะเพราขาว มีสีขาว แต่ถ้าเป็นกะเพราแดงมีสีชมพูอมม่วง เมล็ดเมื่อแก่หรือแห้งจะเป็นสีดำ อยู่ข้างในซึ่งถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง
กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาว และกะเพราลูกผสมระหว่าง กะเพราแดงและกะเพราขาว ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายโหระพา ต่างกันที่กลิ่นและกิ่งก้านซึ่งมีขนปกคลุมมากกว่า ใบกะเพราขาวมีสีเขียวอ่อน ส่วนใบกะเพราแดงสีเขียวแกมม่วงแดง ดอกย่อยสีชมพูแกมม่วง ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว
ส่วนที่ใช้และวิธีการใช้
ส่วนที่นำมารักษาอาการท้องอืด คือใบ ในใบสดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ ซึ่งประกอบด้วย linalool และ methyl chavicol ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม การนำมาใช้เพื่อแก้จุกเสียดในท้องจะใช้ใบสดหรือยอดอ่อน สัก 1 กำมือ มาต้มกับน้ำให้เดือด แล้วกรองเอาน้ำดื่ม แต่ถ้าใช้กับเด็กทารกให้นำเอามาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำยามหาหิงคุ์ แล้วใช้ทาบริเวณรอบๆ สะดือและทาที่ฝ่าเท้า แก้อาการปวดท้องของเด็กได้ นอกจากนั้นน้ำคั้นจากใบยังใช้ขับเสมหะ ขับเหงื่อ หรือใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อนได้ ใบสดยังนำมาผัดหรือนำมาแกงเป็นอาหารได้อีกด้วย สำหรับใบแห้งใช้ชงกินกับน้ำแก้ท้องขึ้น น้ำมันที่ได้จากใบกะเพรานั้น สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางอย่าง และมีฤทธิ์ไล่ยุงได้ ซึ่งจะมีฤทธิ์นานถึง 2 ชั่วโมง
สรรพคุณ

ตำรายาไทยใช้ใบหรือทั้งต้นเป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน นิยมใช้กะเพราแดงมากกว่ากะเพราขาว โดยใช้ยอดสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำ พบว่าฤทธิ์ขับลมได้ดีซึ่งเกิดจากน้ำมันหอมระเหยที่เป็นส่วนประกอบในใบ  การทดลองในสัตว์ทดลองแสดงว่าให้เห็นว่าน้ำสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสกัดแอลกอฮอล์สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร สาร eugenol ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด

ขอบคุณ ข้อมูลดีๆจาก หนังสือเภสัชโภชนา กินผักให้เป็นยา สมุนไพรสามัญประจำบ้าน

                                           http://www.youtube.com/watch?v=Fbm7NycYphY

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น